อาหารเสริมไทรอยด์ ต้านอารมณ์แปรปรวน

อาหารเสริมไทรอยด์ ต้านอารมณ์แปรปรวน

เรารู้ว่าสาเหตุหนึ่งของความเครียดและความไม่สงบในใจ มาจากการทำงานไม่ปกติของไทรอยด์ หรืออีกนัยหนึ่ง (ถ้าจะสาวต้นตอกันให้ถูก) ความเครียดทำให้ไทรอยด์ทำงานไม่ปกติ ซึ่งไม่ว่าจะไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ เราก็ได้กินทั้งไก่และไข่ คือทั้งไทรอยด์ไม่ปกติ และความเครียด

ความเครียดคืออะไร นิตยสารชีวจิตหลายคอลัมน์ในปักษ์นี้คงนิยามให้แล้วเรียบร้อย เอาเป็นว่า บ.ก.บอกเลยล่ะกันว่า ความเครียดและความไม่ปกติของไทรอยด์นั้น ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง

  1. ปวดหัวจากความเหนื่อยล้า
  2. ระบบภูมิคุ้มกันลดลง
  3. นอนไม่หลับ หรือหลับทั้งๆ ที่ตื่นอยู่ (คือสมองไม่ทำงาน หรือเบลอนั่นเอง)
  4. อารมณ์แปรปรวน (ความผิดปกตินี้ ผู้หญิงมักอ้างว่า ฉันเป็นผู้หญิง ก็ต้องมีอารมณ์นี้นะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว…ไม่จำเป็นค่ะ…คุณผู้ชายจำไว้เลย และรีบไปปรับอาหารการกินของเธอด่วน ว่าแต่ปรับอย่างไรนั้น ติดตามต่อไปค่ะ)
  5. อยากของหวาน หรือกาแฟ (นี่ล่ะค่ะ สาเหตุความแปรปรวนทางอารมณ์ของคุณผู้หญิง)
  6. ควบคุมอาการอยากอาหารไม่ได้ เช่น มือสั่น หรือวิงเวียน เมื่อถึงเวลาอาหาร
  7. กินเพื่อบรรเทาความเหนื่อยล้า (คุณผู้ชายเริ่มเห็นปัญหาของสาวใกล้ตัวแล้ว อิอิ)
  8. เวียนหัว ขณะลุกยืน
  9. ระบบย่อยถูกรบกวน (อันนี้เราอาจมองไม่เห็น แต่ให้สังเกตว่า เวลากินเข้าไปแล้ว เกิดอาการอาหารไม่ย่อย มีกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร มีอาการกรดไหลย้อน ท้องผูก…เหล่านี้ค่ะ)

เมื่อมีอาการดังกล่าว เรามักแก้ปัญหากันปลายทาง หาทิปส์นั่นทิปส์นี่ จากสื่อนั้นสื่อนี้ มั่วบ้าง จริงบ้าง เลยทำให้แก้ปัญหาผิดๆ ถูกๆ (ส่วนใหญ่แก้ไม่ถูก) สุขภาพเลยทรุดโทรม จบลงด้วยความอ้วน และกลายเป็นคนขี้บ่น หรือขี้เหวี่ยง

อาหารจ้า อาหาร…(เรารู้ว่าคนที่อ่านคอลัมน์นี้ใจร้อน อยากรู้คำตอบเร็วๆ อิอิ) มาฟังกันค่ะ

  1. กินได้ทุกอย่าง 

    ไม่ว่าจะเป็นอาหารชีวจิต อาหารมังสวิรัติ อาหารห้าหมู่ทั่วไป ยกเว้นอาหารที่กระตุ้นการต้านภูมิคุ้มกันตนเอง (autoimmunity) เช่น ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอาหารดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบ และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของไทรอยด์ตามมา แน่นอนความเครียดพร้อมด้วยความแปรปรวนของอารมณ์

  2. ธัญพืช แน่นอนว่ากินได้

    โดยเฉพาะข้าว เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่ต้องมั่นใจว่า ต้องแช่น้ำก่อนมาทำให้สุก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงสารกลูเต้น และกรดไฟติก หรือโปรตีนอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบ นำไปสู่ความผิดปกติของไทรอยด์ และความเครียดที่พ่วงมากับโรคด้วย

  3. น้ำมันพืช…อาจต้องลดปริมาณการบริโภคลงบ้าง

    เพราะมีสารอนุมูลอิสระ นำไปสู่การอักเสบ (ถ้าร่างกายเรามีสารอนุมูลอิสระมากเกินไป)

  4. เลี่ยงแป้งขัดขาว และธัญพืชที่ผ่านการขัดขาว 

    และกินชนิดที่แปรรูปแล้วให้น้อยลง

  5. อย่ากินลดคาร์โบไฮเดรตมากไป 

    (เชื่อว่าสาวๆ น่าจะทำอย่างแรก เพราะกำลังลดน้ำหนักอยู่ หรือกลัวน้ำหนักเพิ่ม) อย่าลืมว่าการกินคาร์โบไฮเดรต จะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลิน ซึ่งอินซูลินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของไทรอยด์ โดยอินซูลินนั้นต้องการสำหรับการแปลงT3 เป็น T4และ T4 นั้นเป็นฮอร์โมนที่มาจากต่อมไทรอยด์ (เข้าใจนะคะว่าT3 มาจากพาราไทรอยด์ ซึ่งเป็นคนละต่อมกับไทรอยด์ อินซูลินช่วยพา T3 เข้าไปในต่อมไทรอยด์ และหลั่งออกมาเป็น T4)ขณะเดียวกัน บางกรณี T4 ก็ต้องแปลงกลับไปเป็น T3เนื่องจาก T3 ทำงานมากกว่า ฉะนั้นถ้าระดับอินซูลินต่ำเกินไป เนื่องจากควบคุมแคลอรี่ เลยกินอาหารจำพวกแป้งและโปรตีนน้อยเกินไป กระบวนการแปลงฮอร์โมนจาก T4 กลับไปเป็น T3 อาจทำให้ไทรอยด์ต้องทำงานหนัก ซึ่งหากเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานเข้า ก็ไม่ดี ฉะนั้นควรได้แคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรต 30 เปอร์เซ็นต์ และแคลอรี่จากโปรตีนอีก30 เปอร์เซ็นต์ โดยที่เหลือคือแคลอรี่จากไขมันดี (ติดตามอ่านเรื่องไขมันดี ฉบับวันที่ 1เมษายน 2561)

  6. ดูแลระบบย่อยให้ดี 

    ถ้าจะว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะความเชื่อมโยงกันระหว่างระบบย่อยและการทำงานของไทรอยด์นั้นเหนียวแน่นมาก (แต่น้อยคนจะรู้ ใช่ไหม หุหุ) เนื่องจาก 70 -80 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันนั้นเริ่มต้นจากระบบย่อย รวมทั้งแบคทีเรียดีในลำไส้เป็นผู้ช่วยสำคัญในการแปลง T4 ให้เป็นT3 การอักเสบภายในระบบย่อย (รู้ได้ไงเหรอคะ ก็จากอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นกรดไหลย้อน ท้องผูก) เป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และเรารู้กันว่านี่ฮอร์โมนแห่งความเครียด ซึ่งจะไปลดการแปลงของ T4 เป็น T3 และหากกรดในกระเพาะอาหารมีน้อยเกินไป (สังเกตจากอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ) จะทำให้แบคทีเรียที่เป็นผู้ร้ายเติบโต เกิดเชื้อรา หรือพาราสิต ในระบบย่อย ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาสู่การที่อาหารไม่ถูกดูดซึม (ลำไส้ขี้เกียจ หรือ leak gut syndrome) อาการอักเสบ แน่ล่ะ เมื่อลงเอยที่การอักเสบ ย่อมต่อยอดเป็นความผิดปกติของไทรอยด์ และก็เลยเถิดไปสู่ความเครียด และความไม่อยู่กับร่องกับรอยของอารมณ์

(เมื่อลำไส้ขี้เกียจ มันจะทำงานไม่ปกติ ดูดซึมบ้างไม่ดูดซึมบ้าง บ้างก็ดูดซึมโปรตีนแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย และอีโปรตีนแปลกปลอมเหล่านี้นี่แหละ ที่ไปก่อกวนระบบภูมิคุ้มกัน โดยปกติมันจะจับกินเซลล์แปลกปลอม แต่เมื่อสิ่งแปลกปลอมนั้นไปในรูปแบบโปรตีน มันเลยงง และจับเซลล์กินมั่วไปหมด แยกไม่ออกว่าเซลล์ไหนคือเซลล์ของร่างกาย เซลล์ไหนคือเซลล์แปลกปลอม)

นอกจากความเครียดที่เชื่อมโยงกับการทำงานของไทรอยด์แล้ว ยังมีความเครียดที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่อาจจะต้องแก้ไขด้วยการทำใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง ติดตามในคอลัมน์อื่นๆ ในปักษ์นี้นะคะ

วิธีดูแลระบบย่อยอย่างง่าย

ใครก็ทำได้

  1. เคี้ยวอาหารช้าๆ
  2. อย่าดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร
  3. อย่ากินของหวาน หรือน้ำหวานหลังอาหาร

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารชีวจิต

กลับไปยังบทความ