Protein Type:  อาหารควรกิน VS งด สำหรับสายโปรตีน (สายกินตัวจริง)

Protein Type: อาหารควรกิน VS งด สำหรับสายโปรตีน (สายกินตัวจริง)

คุณหรือเปล่า เป็นคนอารมณ์ดี กินเก่ง กินเยอะ กินจุ กินทุกอย่าง กินโปรตีนได้ กินไขมันก็อร่อย รูปร่างท้วม เพื่อนเรียกว่า ระยะสุดท้ายก่อนอ้วน น้ำหนักไม่ได้ขึ้นง่าย ๆ แต่ก็ไม่ได้ลงง่าย ๆ เช่นกัน

โดยเฉพาะถ้าอยากลดความอ้วน แล้วลองกินอาหารตามคนผอม (กว่าเรา) เช่น กินผักผลไม้แทนอาหารหลัก กลายเป็นว่าน้ำหนักกลับเพิ่มขึ้น หรือบางช่วงเผลอกินคาร์โบไฮเดรตเยอะ ก็กลายเป็นว่า ติดแป้งและของหวานเฉยเลย

ถ้ามีลักษณะใกล้เคียงอะไรแบบนี้ นั่นแปลว่าลักษณะระบบย่อยของคุณคือ สายโปรตีน และกำลังกินไม่ถูกสัดส่วนของตนเองอยู่

วิลเลี่ยม แอล.วอลค็อต (William L. Wolcott) นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และนักบำบัดโรคด้วยอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านเมตาบอลิกไทพิ้ง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Metabolic Typing Diet ยกตัวอย่างคนไข้ของเขาคนหนึ่งชื่อ ซาร่า เฮนเนสซี ซึ่งดูแลสุขภาพตนเองตามคำแนะนำทั่วไป และสุดท้ายกลายเป็นว่า เธอป่วย สะท้อนให้เห็นว่า การดูแลสุขภาพแบบผู้ไม่มีความรู้ ทำตามข้อมูลทั่วไป ที่พบอยู่ตามสื่อต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่หนทาง “ฉลาด” ที่จะป้องกันความเจ็บป่วยอันเกิดจากพฤติกรรมได้เลย

ซาร่ากินอาหารสุขภาพ ใครว่าอะไรดี เธอจะหามาบริโภคทุกอย่าง ดื่มแต่น้ำบริสุทธิ์ และกินอาหารเสริมตัวท็อปราคาแพง (ที่ว่าดีที่สุด) ในตลาด

ลงรายละเอียดในแต่ละส่วน เริ่มที่อาหารสุขภาพ เธอเลือกผักผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์แบบลีน (ที่ไม่ติดไขมัน) อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกเธอเรื่องการกินอาหารให้ครบหมู่ถูกต้องตามสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ

หลายปีผ่านไป เธอจึงล้มป่วยและมาพบคุณวิลเลี่ยม ซึ่งเมื่อทำแบบสอบถาม ก็พบว่าร่างกายขาดสารอาหารมากมาย เนื่องจากการบริโภคสารอาหารบางอย่าง (ที่ได้ยินมาว่าดี) ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระบบเมตาบอลิก หรือระบบย่อยและการเผาผลาญเสียสมดุลอย่างมาก ส่งผลต่อไปยังต่อมและระบบอวัยวะต่าง ๆ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และลงเอยที่ระบบภูมิคุ้มกันหมดประสิทธิภาพ

อาการของซาร่าคือ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แพ้อาหารและสารเคมีหลายชนิด ปวดตามข้อ ปวดหัว มีอาการกรดไหลย้อนเป็นคราว ๆ วิงเวียนบ่อย ๆ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะเสมอ ๆ และมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย โดยเธอทนทุกข์ทรมานกับอาการ และการรักษาความผิดปกติเหล่านี้ด้วยวิธีต่าง ๆ มานับสิบปี

เช็คให้ชัวร์ว่า ใช่นักกินสายโปรตีนแน่

ตามลิงค์นี้ไปเลยค่ะ 

เช็คระบบย่อย คุณกินคาร์บ โปรตีน ไขมัน ได้แค่ไหน

จะมีแบบสอบถามให้ตอบ จะได้ทราบว่า คุณเป็นนักกินสายไหน

ตอบ C มากที่สุด สายโปรตีนแน่แท้ 

 เนื่องจากระบบย่อยอาหารของคนกลุ่มนี้ สามารถย่อยอาหารได้เร็วมาก  กินเก่ง (บางทีก็กินเยอะเกินไป) อยากกินอาหารทอด รสเค็ม แต่ถ้าเลี่ยงการกินอาหารจำพวกโปรตีนดี หรือเนื้อสัตว์ มากินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่เสพติดการกินแป้งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสร้างปัญหาสุขภาพให้อย่างง่ายดาย  เช่น เสี่ยงอาการน้ำตาลในเลือดตกหรือไฮโปไกลซีเมียมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ น้ำหนักเพิ่มเพราะกินแป้งและน้ำตาลเร็วกว่ากลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ หากต้องการลดอาการดังกล่าว (โดยเฉพาะความอ้วน หรือน้ำหนักเพิ่ม) ด้วยการอดอาหาร หรือใช้สูตรการกินผลไม้บางอย่าง นอกจากไม่ได้ผลแล้ว บางรายยังทำให้น้ำหนักเพิ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ หากกินอาการผิดไปจากลักษณะระบบย่อยดั้งเดิมของตัวเอง คนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มจะมีปัญหาทางอารมณ์ เมื่อพลังงานตกต่ำ เช่น ง่วงซึม เศร้า เบลอ หรืออาจรู้สึกแปลก ๆ รวมทั้งกระวนกระวายใจ วุ่นวายใจ ใจสั่น มือสั่น จนกระทั่งกินอาหารมื้อต่อไป จึงจะมีอาการดีขึ้น

อาหารควรกิน สำหรับสายโปรตีน

สัดส่วนอาหารสำหรับนักกินสายโปรตีน คือ ไขมันดีและโปรตีนดีร้อยละ 70ส่วนคาร์โบไฮเดรตนั้นควรบริโภคแค่ร้อยละ 30 เพราะระบบย่อยและระบบเผาผลาญอาหารนั้นทำงานอย่างรวดเร็ว จึงต้องการไขมันดีและโปรตีนดีช่วยลดอัตราการเผาผลาญลง

และเมื่อต้องการลดน้ำหนัก คนเหล่านี้ก็ต้องการอาหารประเภทไขมันดีและโปรตีนดี มาช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกาย ทั้งนี้ การกินไขมันดีและโปรตีนดีจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด โรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยและการเผาผลาญอาหาร โรคกระดูกพรุน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบย่อยและการเผาผลาญอาหาร (metabolic imbalance)

อาหารที่คุณวิลเลียม แอล. โวลค็อตต์แนะนำสำหรับคนที่มีลักษณะระบบย่อยสายโปรตีนคือ

เน้นการกินโปรตีนดี ปลา ถั่ว อาหารทะเล และไขมันดี ได้แก่ พืชที่มีโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 รวมทั้งปลานานาชนิด ทั้งนี้คนกลุ่มนี้ต้องกินโปรตีนดีและไขมันดีทุกมื้อ

เนื่องจาก ย่อยอาหารได้อย่างรวดเร็ว คนที่มีลักษณะระบบย่อยแบบนี้จะต้องมีอาหารว่าง จำพวกอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ถั่วต่างๆ ไว้ข้างตัว

ส่วนอาหารประเภทแป้งและขนมปังนั้น คนที่มีลักษณะระบบย่อยแบบนี้ ควรกินในลักษณะที่เป็นแบบไม่ขัดขาว กินผลไม้ไม่หวาน กินผักที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อย เนื่องจากร่างกายจะมีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วต่ออาหารประเภทนี้

สรุปว่าต้องจำกัดการกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต รวมทั้งผลไม้รสหวาน เช่น แอปเปิ้ล กล้วยสุก ลำไย ลองกอง เงาะ

ทั้งนี้ หากต้องการดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นตามกระแส ให้เลือกชนิดที่ไม่หวาน โดยผสมแครอท เซเลอรี่ และผักโขมลงไปด้วย โดยดื่มได้สัปดาห์ละ 4-5 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ควรงดน้ำผลไม้ ทั้งแบบกล่องและคั้นสด

คนที่มีลักษณะระบบย่อยแบบนี้ กินไขมันดีได้ไม่อั้น แถมยังมีร่างกายที่ปรับให้จัดการกับน้ำมันและไขมันต่าง ๆ ได้ดี จึงไม่มีอาการท้องอืดหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ เมื่อบริโภคไขมัน ฉะนั้นจึงต้องระวังไม่ให้ร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินไป และควรบริโภคอาหารที่มาจากแหล่งที่ปลอดสารเคมี หรือเป็นออร์แกนิกเท่านั้น

อาหารต้องเลี่ยง สำหรับสายโปรตีน

  • แอลกอฮอล์ ถือว่าคือยาพิษของร่างกาย ไม่ว่าคุณจะมีระบบย่อยแบบใดก็ตาม
  • คาเฟอีน การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนนั้น ควรจำกัดวันละ 2 แก้ว เพราะคาเฟอีนจะไปรบกวนการทำงานองต่อมที่ควบคุมการใช้พลังงาน หากดื่มมากเกินไป จะทำให้ต่อมดังกล่าวทำงานแย่ลง และส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว
  • น้ำตาลในลักษณะต่าง ๆ ทั้งกลูโคส แล็กโตส ฟรักโตส และซูโครส ทั้งจากการเติมน้ำตาลลงไปในอาหาร หรือจากพืชที่มีน้ำตาลดังกล่าว
  • อาหารค่าจีไอสูง (GI หรือ Glycemic Index) เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน ทั้งนี้คนที่มีลักษณะย่อยดังกล่าว จะมีตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลินไม่แข็งแรงเท่าคนอื่น จึงเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน (อันเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน) ได้มากกว่า หากบริโภคอาหารที่มีค่าจีไอสูง
  • อาหารที่มีกรดไฟติก และกรดอ็อกซาเลท เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ซึ่งจะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร อย่างไรก็ตาม โดยหลักการปรุงอาหารตามวัฒนธรรม (culture food) โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคเอเชีย คนโบราณจึงนำข้าว หรือถั่วเหลืองไปแช่น้ำค้างคืน เทน้ำทิ้ง ก่อนนำมาปรุงเสมอ เพื่อลดปริมาณกรดไฟติกและกรดอ็อกซาเลท
  • อาหารที่มีกลูเต้น เพราะกลูเต้นเป็นโปรตีนที่ย่อยยาก เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร จึงเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ โรคทางจิตเวช จุลินทรีย์ตัวร้ายหรือเชื้อราเติบโตมากเกินไป อาหารที่กลูเต้น ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เล่ย์

12 สเต็ป ปรับตัวเอง

กินให้ถูกสาย

  1. 5-7 วันแรก ให้กินอาหารเหล่านี้อย่างระมัดระวังที่สุด ได้แก่ ธัญพืช ซีเรียล ขนมปัง ขนมหวาน ผลไม้ และผักหัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์นม
  2. กินโปรตีนและไขมันดีเท่าที่อยากกิน
  3. วันที่ 5-7 ให้เริ่มกินและผักที่ไม่ค่อยมีแป้งอย่างหลากหลาย เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักเซี่ยน ผักชี แอสพารากัส เซเลอรี่ ผักโขม และเห็ดต่าง ๆ ทั้งนี้เริ่มจากกินในปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้น ๆ
  4. กินแต่ละมื้อให้อิ่ม โดยไม่ต้องถึงขั้นจุก
  5. กินของว่างได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มถั่ว
  6. ถ้าเป็นคนที่มีลักษณะการย่อยสายโปรตีน จะรู้สึกดีภายในสัปดาห์แรก สามารถไม่กินอาหารได้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ไม่อยากของหวาน และรู้สึกมีพลัง
  7. ภายในสัปดาห์แรกนี้ คนที่มีลักษณะการย่อยสายโปรตีนอาจรู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย และอยากกินของหวาน ถ้าเป็นแบบนี้ให้เพิ่มผักใบเขียวต่าง ๆ ให้มีปริมาณเท่าโปรตีน
  8. ถ้ายังไม่รู้สึกดีขึ้นอีก ให้ลองเพิ่มผักที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง ในอาหารมื้อเย็น
  9. ถ้ากินผักที่มีคาร์โบไฮเดรตแล้วรู้สึกดี ให้ลองเพิ่มลงไปในมื้อกลางวัน และมื้อเช้า แค่เพียงช้อนโต๊ะเดียวเท่านั้น
  10. ถ้ารู้สึกดี ก็กินข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีตแทนผักที่มีคาร์โบไฮเดรตเหล่านั้น
  11. จากจุดนี้ ลองเพิ่มข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีตดู โดยค่อย ๆ เพิ่มลงไปในอาหาร
  12. เพิ่มคาร์โบไฮเดรตลงไปในอาหาร จนกระทั่งกลับมารู้สึกเหนื่อย ซึม เศร้า อารมณ์ปรวนแปร อยากของหวาน ถึงตอนนี้ ก็ให้ลดคาร์บโบไฮเดรตลงไปอยู่ในจุดที่ไม่มีความรู้สึกลบต่าง ๆ ข้างต้น

และนั่นคือ สัดส่วนปริมาณอาหารที่พอเหมาะสำหรับเรา

 


อ้างอิง

Metabolic Typing Diet โดยคุณ William L. Wolcott และคุณ Trish Fahay

กลับไปยังบทความ